น้ำมันจากสาหร่าย..ผลิตได้จริงหรือ

น้ำมันจากสาหร่าย..ผลิตได้จริงหรือ

จากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาที่น้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นไปถึงระดับกว่า 110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้กระทรวงพลังงานต้องเร่งหาพลังงานทดแทนประเภทอื่นมาเสริมเพื่อลดการใช้น้ำมันลง ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีนโยบายส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ซึ่งมีส่วนผสมของเอทานอลในเนื้อน้ำมันเบนซิน โดยวัตถุดิบหลักที่นำมาผลิตเอทานอลก็มาจากพืชผลทางการเกษตร คือ มันสำปะหลัง กากน้ำตาลหรือ โมลาส ส่วนน้ำมันดีเซล ก็ได้ส่งเสริมให้มีการใช้น้ำมันปาล์มดิบ สบู่ดำ มาผสมเป็นน้ำมันไบโอดีเซล และขณะนี้ก็ได้มีการคิดค้น วิจัย ในการนำสาหร่ายมาผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล เพื่อแทนการนำพืชอาหารมาผลิตเป็นพืชพลังงาน

ซึ่งในส่วนของการนำสาหร่ายมาสกัดเป็นน้ำมัน ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เกิดขึ้น เพียงแต่เป็นการศึกษา ทดลองในห้องแล๊ปเท่านั้น แต่ขณะนี้ เริ่มเห็นสัญญาณที่จะนำสาหร่ายมาทดลองเลี้ยงในพื้นที่จริงแล้ว ซึ่งหากได้ผล แน่นอนว่าในอนาคตประเทศไทยจะมีน้ำมันไบโอดีเซลที่ผลิตจากสาหร่ายมาใช้ควบคู่ไปกับน้ำมันไบโอดีเซลที่ผลิตจากปาล์มก็เป็นได้

เนื่องจากการผลิตน้ำมันจากสาหร่ายถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย กระทรวงพลังงานจึงได้พาคณะสื่อมวลชนไปศึกษาดูงาน การผลิตน้ำมันจากสาหร่ายที่โรงไฟฟ้าถ่านหิน Tarong  ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐควีนแลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นสถานที่ ที่มีการเพาะเลี้ยงสาหร่ายโดยการใช้ก๊าซคาร์บอนไดซ์ออกไซต์ที่ปล่อยจากโรงไฟฟ้า โดยการดำเนินการดังกล่าว ทางบริษัทบริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ได้เข้ามาเป็นพันธมิตรร่วมกับ MBD Energy ซึ่งถือเป็นบริษัทที่มีความชำนาญและมีเทคโนโลยีที่เหมาะสม ที่พร้อมจะขยายเป็นเชิงพาณิชย์ได้ภายในสิ้นปีนี้  

สำหรับแผนการผลิตน้ำมันจากสาหร่ายในประเทศไทย ถือเป็นความร่วมมือของ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน หรือ พพ. กระทรวงพลังงาน บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท บางจากปิเตรเลียม จำกัด (มหาชน)  และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ที่จะดำเนินการร่วมกัน โดยในส่วนของ พพ.จะเป็นผู้กำหนดนโยบาย ล็อกซเล่ย์และบางจากจะเป็นผู้ลงทุน  โดยเบื้องต้นจะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 70 ล้านบาท โดยสัดส่วนการลงทุนจะอยุ่ที่ร้อยละ 50 ส่วนบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯ จะให้ใช้พื้นที่จำนวน 6 ไร่  ก๊าซคาร์บอนไดซ์ออกไซต์ที่ปล่อยจากโรงไฟฟ้า และระบบสาธารณูปโภค เช่น น้ำ ไฟฟ้า เป็นต้น

โดยคุณณัฐพล  เดชวิทักษ์  ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ กลุ่มธุรกิจการค้าและต่างประเทศ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  การสร้างฟาร์มสาหร่ายดังกล่าวจะอยู่ในพื้นที่รอบ ๆ โรงไฟฟ้าราชบุรี  ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างบ่อ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือนข้างหน้า  

และในขณะนี้เองก็อยู่ระหว่างการศึกษา วิจัย คัดเลือกสายพันธุ์สาหร่ายที่มีอยู่ในประเทศ โดยคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อคัดเลือกสาหร่ายสายพันธุ์ที่จะให้น้ำมันในปริมาณที่มากที่สุด จากที่ปัจจุบันสาหร่ายมีอยู่หลายสายพันธุ์ ทั้งสาหร่ายที่จะนำไปผลิตเป็นอาหาร ผลิตเป็นน้ำมัน และนำไปผลิตเป็นสารตั้งต้นในการผลิตเครื่องสำอางค์  

คุณณัฐพล  ยังบอกด้วยว่า การผลิตน้ำมันจากสาหร่ายจะต้องมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ใน 3 ขั้นตอน คือ 1. การคัดเลือกสายพันธุ์ 2. การเลี้ยงสาหร่าย และ 3. การเก็บเกี่ยวและการสกัดน้ำมันออกมาจากสาหร่าย ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก  จำเป็นต้องใช้พลังงานให้น้อยที่สุดเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงที่สุด  โดยทาง MBD Energy ได้มีการศึกษาเทคโนโลยีที่จะสกัดน้ำมันมี 2 วิธี  คือ การใช้แม่เหล็กดึงสาหร่ายขึ้นมาเพื่อแยกสาหร่ายออกจากน้ำแล้วจึงสกัดเป็นน้ำมันออกมา และวิธีที่ 2 คือ การใช้ความร้อนเข้าไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโมเลกุลของสาหร่ายให้เป็นน้ำมันเลย โดยคาดว่าภายในปีนี้จะได้ข้อสรุปว่าวิธีการใดที่จะทำให้ได้ปริมาณน้ำมันจากสาหร่ายมากที่สุด ซึ่งตนคิดว่าน่าจะเป็นวิธีที่ 2

สำหรับการเพาะเลี้ยงสาหร่ายในครั้งนี้ คุณณัฐพล บอกว่า ในปีนี้จะให้ความสำคัญกับการคัดเลือกสายพันธุ์ที่จะให้น้ำมันปริมาณมากที่สุด และเมื่อได้มีการเลี้ยงสาหร่ายแล้วก็คาดว่าในช่วงต้นปีหน้าจะเริ่มเข้าสู่การสกัดน้ำมัน ซึ่งหลังจากนั้นต้องมาดูว่าการการสกัดน้ำมันออกมาให้ผลตอบแทนได้แค่ไหน  และสาหร่ายที่เหลือจะสามารถนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นๆ ได้หรือไม่  ถ้าสุดท้ายผลที่ออกมาคุ้มค่าต่อการลงทุน ก็จะมีการลงทุนเชิงพาณิชย์ในปี 2557 ซึ่งการผลิตน้ำมันจากสาหร่ายเชิงพาณิชย์นั้น จะต้องใช้พื้นที่ประมาณ 400-500 ไร่  เพื่อที่จะผลิตน้ำมันสาหร่ายให้ได้ประมาณวันละ 30,000 ลิตรขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม หลายๆ คนอาจกังวลกับความคุ้มทุนว่าการผลิตน้ำมันจากสาหร่ายจะมีความคุ้มทุน เท่ากับการผลิตน้ำมันจากปาล์มน้ำมันหรือไม่ ซึ่งคุณณัฐพล ยืนยันว่า การผลิตน้ำมันจากสาหร่ายเมื่อเทียบกับการผลิตน้ำมันจากปาล์มในพื้นที่ที่เท่ากัน การผลิตน้ำมันจากสาหร่ายจะสามารถผลิตน้ำมันได้มากกว่าปาล์มถึงร้อยละ 50  และยังเป็นการช่วยลดการนำเอาพืชอาหารมาใช้เป็นพืชพลังงาน  แต่อย่างไรก็ตามยอมรับว่า ในช่วงแรกของการดำเนินการโดยเฉพาะในช่วงของการศึกษาต้นทุนการผลิตน้ำมันจากสาหร่ายอาจจะสูงกว่าน้ำมันปาล์มประมาณร้อยละ 20 -30 แต่เชื่อมั่นว่าในอนาคตเมื่อผลิตเป็นเชิงพาณิชย์จะมีต้นทุนที่ถูกกว่า เพราะสาหร่ายต้องการการดูแลที่น้อยกว่าปาล์ม รวมถึงสาหร่ายยังสามารถเกี่ยวได้ทุกวัน ขณะที่ปาล์มสามารถเก็บเกี่ยวได้ปีละ 2 ครั้ง  

แผนการผลิตน้ำมันจากสาหร่ายที่บริเวณโรงไฟฟ้าราชบุรีฯ ถือเป็นโครงการแรก ๆ เท่านั้น คุณณัฐพล ยังมีแผนที่จะขยายไปยังโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ที่จังหวัดลำปาง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.ในอนาคตด้วย เนื่องจากเป็นพื้นที่ ที่มีความเหมาะสมทั้งปริมารพื้นที่ อากาศ และคุณภาพก๊าซฯ ที่ปล่อยออกมา แต่นั่นก็ต้องรอผลความสำเร็จจากโครงการแรกที่โรงไฟฟ้าราชบุรีก่อน

ถึงแม้ว่าการผลิตน้ำมันจากสาหร่ายจะช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดซ์ออกไซต์ที่อยู่ในอากาศ  แต่โครงการแบบนี้ก็ใช่ว่าจะสามารถดำเนินการได้ทุกพื้นที่ เพราะยังมีข้อจำกัดในเรื่องของการใช้พื้นที่ ที่มีจำนวนมากถึง 400 ไร่ และยังต้องตั้งอยู่ในบริเวณที่ใกล้กับแหล่งที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดซ์ออกไซต์ด้วย  ดังนั้นในเรื่องนี้จึงจำเป็นต้องมีศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต เช่น เรื่องการเลี้ยงสาหร่ายในแนวตั้ง หรือใช้บ่อขนาดเล็กลง เพื่อประหยัดพื้นที่และเพิ่มปริมาณผลผลิตให้คุ้มค่าต่อการลงทุน

ก็คงได้แต่หวังว่าการผลิตน้ำมันจากสาหร่ายจะสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ตามแผนที่ศึกษาไว้ หรือภายในอีก 2-3 ปีข้างหน้านี้ เพราะหากดำเนินการได้จริง ประเทศไทยจะถือเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สามารถผลิตน้ำมันสาหร่ายในเชิงพาณิชย์ใต้  นอกจากจะเป็นความภาคภูมิใจแล้ว ยังเป็นการช่วยลดการใช้น้ำมันในประเทศลงได้อย่างมหาศาล หรืออย่างน้อยก็ช่วยแบ่งเบาภาระจากปาล์มไปได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

นอกจากธุรกิจการผลิตน้ำมันจากสาหร่ายแล้ว ล็อกซเล่ย์ยังมีธุรกิจโซล่าร์ฟาร์มจำนวน 8 เมกะวัตต์ ที่อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดสระแก้ว ซึ่งปัจจุบันได้ขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ.แล้ว และยังมีโรงไฟฟ้าพลังงานลม และการหมักขยะให้เป็นก๊าซ โดยใช้เทคโนโลยีของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นการหมักแบบไม่เติมอากาศ ซึ่งจะให้ปริมาณก๊าซได้มากกว่า ซึ่งในส่วนของธุรกิจพลังงานด้านอื่น ๆ ของล็อกซเล่ย์ ไว้ติดตามกันในตอนต่อไปค่ะ