ตอนที่ 16 "อัดน้ำกลับลงหลุม" เทคโนโลยีที่ดีที่สุดเพื่อสิ่งแวดล้อม

ตอนที่ 16 "อัดน้ำกลับลงหลุม" เทคโนโลยีที่ดีที่สุดเพื่อสิ่งแวดล้อม

นอกเหนือจากการนำเทคโนโลยีการขุดเจาะแบบหลุมแคบหรือ Slim Hole Drilling มาใช้ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพทางธรณีวิทยาของอ่าวไทย ซึ่งแหล่งปิโตรเลียมมีลักษณะเป็นกระเปาะเล็กๆ กระจายตัวอยู่ทั่วไป และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขุดเจาะให้เร็วขึ้น ทั้งยังมีความปลอดภัยและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย นอกจากนี้ อีกเทคโนโลยีสำคัญที่บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด นำมาใช้เพื่อการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมก็คือ นวัตกรรมการอัดน้ำที่ขึ้นมาพร้อมกับการผลิตปิโตรเลียมกลับลงไปสู่หลุมผลิตที่เลิกทำการผลิตแล้ว ซึ่งเป็นโครงสร้างทางธรณีวิทยาเดิม เทคนิคดังกล่าวนี้เรียกว่า Water Reinjection นับเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการดูแลสิ่งแวดล้อม

เทคนิคการอัดน้ำจากกระบวนการผลิตกลับลงหลุม มีการนำมาใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2540 ที่แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณของบริษัทเชฟรอนฯ ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งแรกในอ่าวไทย ตามธรรมชาติของก๊าซที่ขุดเจาะขึ้นมาได้นั้น จะประกอบไปด้วย ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติเหลว และน้ำ ซึ่งเมื่อก๊าซธรรมชาติถูกส่งไปที่แท่นกระบวนการผลิตกลางเพื่อแยกชั้นส่วนประกอบต่างๆ ออกจากกัน น้ำซึ่งอยู่ชั้นล่างสุดนั้นจะถูกส่งเข้าสู่กระบวนการโดยการใช้แรงดันอัดกลับคืนสู่ก้นหลุมที่เป็นหลุมแห้ง ซึ่งเป็นหลุมที่ไม่มีการผลิตก๊าซธรรมชาติแล้วนั่นเอง โดยกระบวนการเหล่านี้เป็นระบบปิดทั้งหมด จึงถือเป็นวิธีการจัดการกับน้ำที่ขึ้นมากับการผลิตก๊าซธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสูงสุด

                                 

สำหรับในแท่นผลิตอื่นๆ หากเป็นหลุมผลิตน้ำมัน ก็สามารถที่จะนำน้ำใต้ดินที่เหลือจากหลุมผลิตก๊าซธรรมชาติอื่น มาอัดเข้าทางหลุมเจาะน้ำมันดิบได้ เพื่อให้น้ำเข้าไปแทนที่น้ำมันดิบในชั้นล่าง และไล่น้ำมันดิบขึ้นมา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบได้ดี ซึ่งวิธีนี้เรียกว่าเทคนิค Water flood

ในการเลือกหลุมที่จะทำการอัดน้ำกลับลงไปนั้น จะต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องก่อนว่าเป็นหลุมที่ไม่มีก๊าซธรรมชาติเหลืออยู่แล้วจริง หรือเหลืออยู่น้อยมาก ไม่คุ้มค่าต่อการผลิต รวมไปถึงการเจาะหลุมใหม่เพื่อเป็นหลุมสำหรับการอัดน้ำกลับโดยเฉพาะ ก็จะต้องมั่นใจได้ว่าน้ำที่ถูกอัดกลับลงไปจะถูกเก็บกักไว้ในชั้นหิน และไม่ถูกแรงดันทำให้น้ำไหลย้อนกลับขึ้นมาได้อีก ซึ่งในกระบวนการก่อนที่จะดำเนินการทั้งหมดนี้ บริษัทฯ จะต้องจัดทำรายงานส่งให้หน่วยงานภาครัฐเพื่อขอความเห็นชอบเสียก่อน

                  

สำหรับบริษัทเชฟรอนฯ เอง มีการจัดทำแผนกลยุทธ์ระยะยาว 5 ปีและ10 ปีข้างหน้า เพื่อที่จะสามารถประเมินจากแผนการผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งต่างๆ ถึงปริมาณน้ำตามธรรมชาติที่จะขึ้นมาพร้อมกับกระบวนการผลิต รวมถึงแผนการเตรียมหลุมแห้งสำหรับอัดน้ำกลับลงไป

เทคโนโลยีการอัดน้ำที่ขึ้นมาพร้อมกับปิโตรเลียมกลับลงหลุมจึงนับเป็นอีกเทคโนโลยีที่ทางบริษัทฯ ได้นำมาใช้มากว่า 10 ปี เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการดำเนินกิจการสำรวจและปิโตรเลียม โดยเริ่มใช้ที่แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณเป็นแห่งแรก ซึ่งต่อมาแหล่งปิโตรเลียมอื่นๆ ในอ่าวไทย ก็ได้มีการนำเทคโนโลยีการอัดน้ำกลับลงหลุมไปใช้เช่นกัน


             สนับสนุนโดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด
     "30ปี เอราวัณ ความภาคภูมิใจกับแหล่งก๊าซธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย