กว่าจะได้มาซึ่งปิโตรเลียม: การเจาะสำรวจและการผลิต

กว่าจะได้มาซึ่งปิโตรเลียม: การเจาะสำรวจและการผลิต

อย่างที่ทราบกันดีแล้วว่าธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเป็นธุรกิจที่มีการลงทุนมหาศาลและมีความเสี่ยงสูงและ กว่าที่จะนำทรัพยากรอันมีค่านี้ขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้นั้น ต้องผ่านกระบวนการอันซับซ้อน ฉบับที่แล้วเราได้เจาะลึกถึงขั้นตอนแรกที่สำคัญซึ่งก็คือการสำรวจทางธรณีวิทยา ด้วยวิธีคลื่นไหวสะเทือน (หรือ Seismic survey) กันไปแล้ว และเพื่อให้เกิดความเข้าใจในขั้นตอนของการเจาะสำรวจและการผลิตปิโตรเลียมให้ลึกลงไปยิ่งขึ้น วันนี้เราจะมาติดตามขั้นตอนต่อไปที่สำคัญ นั่นคือการเจาะสำรวจและการผลิตปิโตรเลียมกลางอ่าวไทยกันครับ

ทั้งนี้ เมื่อผ่านกระบวนการสำรวจด้วยวิธีคลื่นไหวสะเทือนแล้ว หากนักธรณีวิทยาและนักธรณีฟิสิกส์วิเคราะห์ข้อมูลแล้วพบว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะมีแหล่งปิโตรเลียมในปริมาณเชิงพานิชย์ ก็จะทำการกำหนดตำแหน่งหลุมเจาะสำรวจขึ้น เพื่อส่งต่องานให้กับทีมเจาะสำรวจต่อไป

ในขั้นตอนของการเจาะสำรวจ นักสำรวจจะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Side Scan Sonar เพื่อตรวจดูสภาพพื้นทะเลในบริเวณที่จะติดตั้งแท่นขุดเจาะ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1-2 วันต่อหลุมสำรวจ เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลจนแน่ใจในจุดที่จะเจาะหลุมสำรวจปิโตรเลียมแล้ว ก็จะมีการเจาะหลุมสำรวจระดับบน ความลึกประมาณ 300 เมตร เพื่อให้เลยชั้นน้ำและชั้นหินลงไป และวางท่อซึ่งเรียกว่า Casing การเจาะขั้นที่สอง จะเป็นการเจาะในท่อนี้ให้ลึกลงไปอีกประมาณ 1,200 เมตร โดยจะมีการลงซีเมนต์เพื่อยึดท่อไว้ ส่วนการเจาะขั้นที่สามก็จะวางท่อซ้อนลงไปอีกชั้น โดยให้มีความลึกประมาณ 5,000 เมตร ซึ่งกระบวนการเจาะหลุมทั้งสามช่วงนี้ เรียกว่าเทคนิคการขุดเจาะแบบหลุมแคบหรือ slim hole ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6-7 นิ้วเท่านั้น โดยเป็นเทคโนโลยีที่ทางบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด พัฒนาขึ้นเพื่อให้เหมาะสมกับแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทย โดยการเจาะหลุมสำรวจดังกล่าวหากพบปิโตรเลียมในปริมาณที่มากพอสำหรับการผลิตเชิงพาณิชย์ จึงจะมีการเจาะหลุมผลิตเพื่อนำปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ประโยชน์ต่อไป

        

สำหรับผู้รับสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทุกรายนั้น เมื่อมีการวางแผนการเจาะหลุมสำรวจหรือหลุมผลิต ก็จะต้องทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและรับฟังความคิดเห็นกับประชาชนในพื้นที่ก่อน จากนั้นจึงจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอเสนอให้ทางหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณา จนเมื่อได้รับการอนุมัติจึงดำเนินการได้

เมื่อจะทำการผลิตปิโตรเลียม ก็จะต้องมีการวางแผนการผลิต การออกแบบและก่อสร้างแท่นผลิต ซึ่งแท่นผลิตหนึ่งๆ ใช้เวลาหลายปีในการก่อสร้าง และเงินลงทุนมหาศาล ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่อธิบายได้ว่าทำไมระยะเวลาสัมปทานจึงมีช่วงระยะเวลาหลายสิบปี

หลายคนอาจสงสัยว่าเมื่อผลิตปิโตรเลียมได้แล้ว ปิโตรเลียมในอ่าวไทยของเราไปไหน สำหรับบริษัทเชฟรอน ซึ่งสามารถผลิตได้ทั้งก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลว โดยก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ทั้งหมดส่งให้กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งปตท.จะส่งก๊าซผ่านท่อใต้ทะเลไปยังโรงแยกก๊าซธรรมชาติของปตท. ที่จังหวัดระยองและนครศรีธรรมราช เพื่อเข้าสู่กระบวนการต่อไป โดยก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้คิดเป็น 33% ของความต้องการใช้ก๊าซฯ ในประเทศ สามารถนำไปผลิตไฟฟ้า 25% ของภาคการผลิตไฟฟ้าของประเทศ

ส่วนน้ำมันดิบจำหน่ายทั้งภายในประเทศและส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลวของเชฟรอนนั้นสามารถช่วยลดภาระการนำเข้าพลังงานได้ถึงร้อยละ 15 นับเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลเรื่องการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน

แม้ว่าการได้มาซึ่งปิโตรเลียมจะมีกระบวนการที่ยุ่งยาก ซับซ้อน และมีความเสี่ยงทางธุรกิจสูง แต่เมื่อต้นทางทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ คือนักสำรวจมีความแม่นยำ มีเทคนิคและเทคโนโลยีที่ดีในการขุดเจาะ มีการวางแผนการผลิตและการดูแลรักษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้ดี ในปลายทางเราก็จะพบว่า สิ่งที่ได้กลับมาคือปิโตรเลียม ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา และเป็นทรัพยากรสำคัญที่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญรุดหน้ามาจนถึงทุกวันนี้

ข้อมูลอ้างอิง ; จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน
////////////////////////////////////////////////


         สนับสนุนโดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด
      “30ปี เอราวัณ ความภาคภูมิใจกับแหล่งก๊าซธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย”