ย้อนรอยปิโตรเลียมไทย ตอนที่ 3 : ปิโตรเลียมคืนผืนป่า

ปิโตรเลียมคืนผืนป่า

ในอดีต ประเทศไทยมีทรัพยากรป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งนอกจากจะเป็นทรัพยากรที่เปี่ยมประโยชน์ที่คนไทยในยุคนั้นใช้เป็นแหล่งอาหาร สร้างบ้านเรือนที่พักอาศัย เป็นเชื้อเพลิง กระทั่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญแล้ว เรายังได้รับประโยชน์ทางอ้อมจากป่าไม้ที่เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธาร ทำให้ผืนดินอุดมสมบูรณ์ เกิดความชุ่มชื้น ไม่แห้งแล้ง มีฝนตกต้องตามฤดูกาล และยังเป็นปราการด่านสำคัญในการป้องกันหรือบรรเทาภัยธรรมชาติได้อีกด้วย

    จากพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินในขณะทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการรถไฟหลวง  ที่ทรงตะหนักถึงคุณค่าและประโยชน์ของป่าไม้ และทรงเล็งเห็นว่ากิจการรถไฟที่ใช้ในประเทศไทยซึ่งเป็นแบบหัวรถจักรไอน้ำนั้นจำเป็นต้องใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง และกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ทรัพยากรป่าไม้ของประเทศลดลง  ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสำรวจและค้นหาปิโตรเลียมในประเทศอย่างจริงจัง และแนวคิดดังกล่าวได้กลายเป็นแนวคิดที่มีบทบาทสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ให้คงอยู่จนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานสืบต่อมาถึงปัจจุบัน

แม้ว่าการเจาะหลุมสำรวจปิโตรเลียมในยุคนั้น จะไม่ประสบผลสำเร็จในการนำปิโตรเลียมขึ้นมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนฟืนในกิจการรถไฟ แต่พระองค์ก็ทรงมีแนวคิดที่จะนำหัวรถจักรดีเซลเข้ามาใช้ในประเทศไทย เพราะเป็นหัวรถจักรที่มีประสิทธิภาพสูงและสิ้นเปลืองพลังงานน้อยกว่าหัวรถจักรไอน้ำ โดยในปีพ.ศ.2464 กรมรถไฟหลวงได้มีการสอบราคารถจักรดีเซลขนาดกำลัง 1,000 แรงม้า ไปยังบริษัทผู้ผลิตในยุโรป แต่ยังมิได้ตกลงสั่งซื้อจนกระทั่งปี พ.ศ.2471 จึงได้สั่งซื้อรถจักรดีเซลขนาดกำลัง 180 แรงม้า จำนวน 2 คันจากบริษัท สวิสส์ โลโคโมติฟ แอนด์ แมชีน เวิร์ค (Swiss Locomotive and Machine Works) แห่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์เข้ามาใช้เป็นรถจักรสำหรับสับเปลี่ยนและลากจูงขบวนรถท้องถิ่นรอบกรุงเทพมหานคร ซึ่งนับเป็นรถจักรดีเซลรุ่นแรกของประเทศไทยที่เป็นรากฐานของความก้าวหน้าให้กับกิจการรถไฟ  ขณะเดียวกัน คนไทยก็ได้รู้จักการใช้น้ำมันดีเซลในบทบาทของการเป็นเชื้อเพลิงทดแทนฟืนด้วยนั่นเอง   



การนำเข้าหัวรถจักรดีเซลที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงมาทดแทนหัวรถจักรไอน้ำนั้น ถือได้ว่ามีบทบาทอย่างมากในการช่วยคืนผืนป่าให้คงความอุดมสมบูรณ์ได้ในยุคนั้น เพราะเมื่อเทียบค่าพลังงานกันหน่วยต่อหน่วยแล้ว น้ำมันดีเซลมีประสิทธิภาพในการให้พลังงานสูงกว่าเศษไม้หรือฟืนที่เป็นผลผลิตจากป่าไม้ หากลองนึกภาพดูว่าเรายังคงใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนหัวรถจักรไอน้ำต่อเนื่องกันมาโดยไม่มีใครคิดที่เปลี่ยนมาใช้น้ำมันทดแทน  เราจะต้องใช้ฟืนเป็นจำนวนมากเพียงใดและต้องสูญเสียพื้นที่ป่าไม้กันอีกเท่าไหร่  



ถึงบรรทัดนี้เราคงได้ตระหนักกันด้วยข้อเท็จจริงว่า ในอดีตน้ำมันมีส่วนสำคัญในการฟื้นคืนผืนป่าในแง่ของการเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ทดแทนฟืน ด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการอนุรักษ์ป่าไม้ที่เป็นทรัพยากรอันทรงคุณค่าเอาไว้   ในปัจจุบัน ปิโตรเลียมได้ถูกนำไปใช้เป็นแหล่งพลังงานในรูปแบบต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะ ทั้งรถยนต์ รถไฟ เรือยนต์ ก๊าซหุงต้ม หรือแหล่งพลังงานสำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้า มิได้จำกัดแต่เพียงเป็นเชื้อเพลิงของหัวจักรรถไฟดังเช่นสมัยก่อน แต่หน่วยงานด้านพลังงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนยังคงแนวคิดการอนุรักษ์ผืนป่าเอาไว้ ผ่านโครงการด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติต่างๆ มาจนถึงปัจจุบัน


ข้อมูลอ้างอิง: เว็บไซต์จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
         

//////////////////////////////////////////////////


 
สนับสนุนโดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด 30ปี“เอราวัณ”
ความภาคภูมิใจกับแหล่งก๊าซธรรมชาติ แห่งแรกของประเทศไทย