ย้อนรอยปิโตรเลียมไทย ตอนที่ 2 : ประวัติศาสตร์ปิโตรเลียมกับบุคคลที่ควรจดจำ

ประวัติศาสตร์ปิโตรเลียมกับบุคคลที่ควรจดจำ

โลกของเราคงจะไม่มีใครได้รู้เรื่องราวของปิโตรเลียม และพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีด้านการขุดเจาะสำรวจให้มีความก้าวหน้าทันสมัย จนมีโอกาสนำน้ำมันออกมาใช้ประโยชน์ได้เป็นผลสำเร็จจนถึงทุกวันนี้ หากไม่มีคนที่ชื่อ ซามูเอล มาร์ติน เกียร์ (Samuel Martin Kier) ซึ่งถือเป็นบุคคลที่รู้จักกันในแวดวงปิโตรเลียมว่าเป็นผู้ขุดค้นพบน้ำมันเป็นคนแรกของโลก และยังได้รับการยกย่องจากนักประวัติศาสตร์ให้เป็นบิดาแห่งอุตสาหกรรมน้ำมันของอเมริกาอีกด้วย 
ซามูเอล มาร์ติน เกียร์ เป็นคนเชื้อสายสก็อตและไอริช เกิดที่เมืองเล็กๆ ในอินเดียน่า มลรัฐเพ็นซิลวาเนีย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2356 เขาเป็นนักประดิษฐ์และนักธุรกิจที่บังเอิญได้ขุดพบน้ำมันจากบ่อเกลือของครอบครัวแถบริมฝังแม่น้ำอัลเลเกนี (Allegheny) ในมลรัฐเพ็นซิลวาเนีย (Pennsylvania) เมื่อปี พ.ศ.2392 หรือประมาณ 160 กว่าปีมาแล้ว ซึ่งในระยะแรกนั้นใช้เป็นยารักษาโรค และเรียกน้ำมันนั้นว่า Rock Oil ซึ่งแปลตรงตัวว่าน้ำมันจากก้อนหิน ต่อมาได้ทำงานร่วมกับนักเคมีและได้กลั่นน้ำมันดิบนั้นเพื่อใช้เป็นน้ำมันตะเกียง ซึ่งการค้นพบดังกล่าวถือเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่ทำให้เกิดการขุดค้นหาแหล่งปิโตรเลียมกันมากขึ้น

 

ในยุคนั้น เชื้อเพลิงที่นำมาใช้เพื่อให้แสงสว่างทำมาจากน้ำมันของปลาวาฬ ซึ่งเริ่มประสบปัญหาขาดแคลนให้ได้เห็นกันแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงเกิดความคิดในการสำรวจหาน้ำมันมาเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงให้แสงสว่างขึ้น ต่อมาจึงมีการจัดตั้งบริษัทเจาะสำรวจน้ำมันที่ชื่อบริษัท เพ็นซิลวาเนีย ร็อค  ออยล์ (Pennsylvania Rock Oil Company) ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นชื่อ บริษัท ซีนีกา ออยส์ (Seneca Oil Company) ขึ้นมา โดยมี เอ็ดวิน เดรก (Edwin Drake) เป็นผู้เจาะสำรวจหาน้ำมันคนแรกที่เมืองทิทัสวิลล์ (Titusville) ในมลรัฐเพ็นซิลวาเนีย (Pennsylvania) ซึ่งเขาได้กลายเป็นผู้ที่ขุดพบน้ำมันเป็นคนแรกและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไป ทั่วทั้งวงการ เพราะเขาสามารถค้นพบน้ำมันที่ระดับความลึก 69.5 ฟุต โดยที่มีอัตราการไหลของน้ำมันออกมาอยู่ที่ 10-35 บาเรล ต่อวัน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของ “ยุคตื่นน้ำมัน” ของโลกทีเดียว และหลังจากนั้นจึงเริ่มมีการผลิตในเชิงพาณิชย์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับประเทศไทย ตามพงศาวดารล้านนาระบุว่า มีการค้นพบน้ำมันดิบ โดยเจ้าเมืองเชียงใหม่สมัยนั้นได้รับรายงานว่ามีการไหลซึมของน้ำมันดิบที่ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และชาวบ้านในละแวกนั้นนำน้ำมันดิบที่ไหลซึมออก มาใช้เป็นยาทารักษาโรคผิวหนัง ซึ่งต่อมาเจ้าเมืองเชียงใหม่ จึงได้สั่งให้มีการขุดบ่อเพื่อกักเก็บน้ำมันดิบที่ไหลซึมออกมา และมีการเรียกขานบ่อดังกล่าวในเวลาต่อมาว่า “บ่อหลวง”

อย่างไรก็ตามความพยายามที่จะขุดเจาะค้นหาปิโตรเลียมของไทยอย่างจริงจังเริ่มต้นเมื่อกว่าศตวรรษที่ผ่านมา โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระโอรสองค์ที่ 35 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจบการศึกษาด้านวิศวกรรมจากตรินิตี้คอลเลจ แห่งมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ พ่วงด้วยวิศวกรรมชั้นสูงจากประเทศฝรั่งเศส รวมทั้งวิชาทหารช่างที่ชัทแทมด้วย  ในปี พ.ศ. 2464 เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการรถไฟ ต้องการหาเชื้อเพลิงทดแทนสำหรับหัวรถจักรไอน้ำ จึงได้ว่าจ้างนักธรณีวิทยาชาวอเมริกันชื่อ Wallace Lee เข้ามาเจาะสำรวจหาน้ำมันดิบในบริเวณบ่อหลวง และ จังหวัดกาฬสินธุ์ในปัจจุบัน ซึ่งแม้ว่าการขุดเจาะในครั้งนี้จะไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากอุปกรณ์ส่วนใหญ่ผลิตขึ้นจากไม้จึงมีข้อจำกัดในการขุดเจาะ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการสำรวจปิโตรเลียมในประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ จึงถือได้ว่าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการสำรวจปิโตรเลียมในประเทศไทยก็ว่าได้

จากจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ปิโตรเลียมที่ได้ขยายความมาทั้งหมดนั้น จึงน่าจะเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งที่ช่วยให้เราสามารถนำไปเล่าขานสู่ลูกหลานในอนาคตได้อย่างเต็มภาคภูมิ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เราควรตระหนักและปลูกฝังลูกหลานไว้แต่เนิ่นๆ คือ “ปิโตรเลียม" หรือแม้แต่ “น้ำมัน” เป็นทรัพยากรอันมีค่าที่มีวันหมด ด้วยเหตุนี้ เราจึงควรใช้อย่างประหยัด เพื่อให้ทรัพยากรเหล่านี้ ยังคงก่อประโยชน์สู่มนุษยชาติไปจนตราบชั่วลูกชั่วหลาน     
   
  ข้อมูลอ้างอิง; จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน กรมป่าไม้
 
 
สนับสนุนโดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด
30 ปี “เอราวัณ” ความภาคภูมิใจกับแหล่งก๊าซธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย