ก.พลังงาน เร่งแก้ไขปัญหาขาดแคลน LPG

ก.พลังงาน เร่งแก้ไขปัญหาขาดแคลน LPG

กระทรวงพลังงาน สั่งการโรงแยกก๊าซฯ ขนอมผลิต LPG เพิ่ม 2 หมื่นตัน เพื่อลดภาระการนำเข้าจากต่างประเทศ

นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน บอกว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง. มีมติให้ บมจ.ปตท.เดินเครื่องโรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงที่ 4 ที่ อำเภอ ขนอม จังหวัด นครศรีธรรมราช เต็มกำลังการผลิต ซึ่งจะทำให้มีก๊าซหุงต้ม หรือ LPG เพิ่มในระบบเดือนละ 17,000 - 20,000 ตัน

โดยแนวทางดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลน หลังจากที่โรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงที่ 6 ไม่สามารถดำเนินการผลิตได้ตามกำหนด  จากเดิมที่ ปตท.มีแนวคิดจะหยุดเดินเครื่องโรงแยกก๊าซฯ ขนอมหน่วยที่ 4 เพราะประสบขาดทุน

 ดังนั้นกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะมีการจ่ายเงินชดเชยให้กับ ปตท. เดือนละ 50-60 ล้านบาท ซึ่งการชดเชยจำนวนดังกล่าวถือว่าถูกกว่าการนำเข้า LPG จากต่างประเทศในจำนวนเท่ากัน ที่กองทุนน้ำมันฯ จะต้องจ่ายเงินส่วนต่างการนำเข้า LPG ถึงเดือนละประมาณ 200 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังให้โรงกลั่นน้ำมันของ บมจ.ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น นำ LPG ที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงกลั่นออกมาจำหน่ายในระบบแล้วใช้น้ำมันเตาทดแทน โดยจะนำออกมาจำหน่ายได้เฉพาะเดือนมีนาคมเท่านั้น ในปริมาณ 4,000 ตัน โดยกองทุนน้ำมันฯ จะจ่ายชดเชย 38 ล้านบาทให้กับโรงกลั่น ซึ่งจะถูกกว่าการชดเชยการนำเข้า LPG จากต่างประเทศ

รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน บอกด้วยว่า กบง.ยังเห็นชอบให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ชดเชยราคา NGV  2 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อตรึงราคาเอ็นจีวีที่กิโลกรัมละ 8.50 บาท ไปจนถึงเดือนสิงหาคมนี้  โดยปัจจุบันปตท.ขาดทุนสะสม ตั้งแต่ 2547 จำนวน 18,000 ล้านบาท และปัจจุบันนี้ต้นทุนที่แท้จริงอยู่ที่ 15 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งหากไม่ได้รับการปรับราคาหรือได้รับเงินช่วยเหลือจากประชาขน ภายในปี 2557 จะขาดทุนสะสมรวม ประมาณ 100,000 ล้านบาท
 
ทั้งนี้กระทรวงพลังงาน จะส่งเรื่องไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อแก้คำนิยามของการใช้ก๊าซ NGV ให้เป็นการใช้น้ำมันเชื้อชนิดหนึ่ง เพื่อทำให้สามารถนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาจ่ายชดเชยให้กับ NGV ได้ จากปัจจุบันที่ไม่สามารถใช้เงินจากกองทุนน้ำเชื้อเพลิงได้
 
นอกจากนี้ในวันนี้จากอากาศที่ร้อนจัดประกอบกับเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสร้างสถิติสูงสุด หรือ พีค เมื่อเวลาประมาณ14 นาฬิกา ที่ 22,212.9 เมกกะวัตต์ สูงกว่าพีคปีที่แล้ว 168 เมกกะวัตต์  หรือร้อยละ 0.76 โดยกฟผ.คาดว่าพีคในปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ  23,000 เมกกะวัตต์