ไทยออยล์ เปิดแผนกลยุทธ์ เดินหน้าสู่องค์กร 100 ปี
  • 31 March 2021 at 18:22
  • 1633
  • 0

ไทยออยล์ เปิดแผนกลยุทธ์ เดินหน้าสู่องค์กร 100 ปี

ไทยออยล์ ประกาศแผนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ 3 ด้าน นำองค์กรสู่ 100 ปี จากระยะเวลา 60 ปีแห่งความสำเร็จและความเป็นเลิศในการดำเนินธุรกิจด้านพลังงาน ตามวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ “สร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ด้วยพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน (Empower Human Life through Sustainable and Chemicals) โดยสร้างความแข็งแกร่งในธุรกิจหลัก สนับสนุนความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ขยายธุรกิจอะโรเมติกส์ไปสู่ปลายน้ำ ขยายสู่ธุรกิจโอเลฟินส์ จากผลิตภัณฑ์ในโครงการ CFP เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ใหม่ และพร้อมลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ
จาก 60 ปี ไทยออยล์ สู่องค์กร 100 ปี

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์จัดตั้งของเป็นโรงกลั่นแรกของประเทศในปี 2504 ด้วยกำลังการกลั่นเริ่มต้น 35,000 บาร์เรล/วัน จนถึงปัจจุบันกลายเป็นโรงกลั่นชั้นนำในภูมิภาค ที่มีกำลังการกลั่น 275,000 บาร์เรล/วัน ทั้งยังต่อยอดไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องด้านปิโตรเคมีและไฟฟ้า โดยปัจจุบันไทยออยล์อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project : CFP) ซึ่งเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ มีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 4,825 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของโรงกลั่น ด้วยการขยายกำลังการกลั่นเพิ่มเป็น 400,000 บาร์เรล/วัน ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นด้านการกลั่น โดยสามารถรับน้ำมันดิบที่หลากหลายชนิด รวมถึงเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น ซึ่งคาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จตามแผนงานในปี 2566

“ตลอดระยะเวลา 60 ปี แห่งความสำเร็จและความเป็นเลิศในการดำเนินธุรกิจด้านพลังงาน ไทยออยล์พร้อมแล้วสำหรับการก้าวเข้าสู่ธุรกิจใหม่ ทั้งผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง (High Value Product) ตามวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ “สร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ด้วยพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน (Empower Human Life through Sustainable and Chemicals)” นายวิรัตน์ กล่าว

กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจหลัก 3 ด้าน
เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์และพันธกิจ กลุ่มไทยออยล์ได้กำหนดเป้าประสงค์เชิงกลยุทธ์ คือ การเป็นบริษัทพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่แข็งแกร่ง ควบคู่ไปกับการส่งมอบผลตอบแทนที่ยั่งยืน และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแก่ผู้มีส่วนได้เสียผ่านทิศทางกลยุทธ์และแนวทางการดำเนินธุรกิจหลัก 3 ด้าน ประกอบด้วย

1.การต่อยอดห่วงโซ่คุณค่าให้แก่ทุกโมเลกุลที่ผลิต (Hydrocarbon Value Chain Maximization) โดยการเร่งหาโอกาสในการลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมีต่อยอดจากธุรกิจการกลั่นน้ำมันเพิ่มเติม จากธุรกิจิโตรเคมีกลุ่มอะโรเมติกส์ที่มีอยู่ในปัจจุบันไปยังธุรกิจกลุ่มโอเลฟินส์ เป็นการต่อยอดห่วงโซ่คุณค่าจากผลิตภัณฑ์พลอยได้ Light Naphtha และ Heavy Naphtha และ LPG จากโครงการ CFP กำลังการผลิตรวมกว่า 2.2 ล้านตัน/ปี รวมถึงมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (High-value Products) เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดและลูกค้า
โดยแบ่งออกเป็น 4 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจน้ำมัน ด้วยการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการเป็นโรงกลั่นน้ำมันชั้นนำในภูมิภาค จัดหาผลิตภัณฑ์ที่มีความต้องการของตลาด ที่จะสร้างกำไรได้มากขึ้น ด้วยการขยายตลาดไปในภูมิภาคเอเชียที่ยังมีการเติบโต ควบคู่ไปกับการสนับสนุนความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ
ธุรกิจอะโรเมติกส์ ที่จะแสวงหาโอกาสในการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ขยายสู่ธุรกิจปลายน้ำ โดยใช้ Heavy Naphtha ไปเพิ่มกำลังการผลิตของอะโรเมติกส์ จากปัจจุบันมีโรงงานพาราไซลีน และเบนซีน ก็สามารถขยายไปสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ สิ่งทอ และเครื่องใช้ไฟฟ้า
ธุรกิจโอเลฟินส์ จะเป็นธุรกิจใหม่ของไทยออยล์ โดยจะนำ Light Naphtha และ LPG ไปผลิตโอเลฟินส์ แต่จะเป็นการลงทุนแบบ Fast Track โดยเข้าร่วมกับพันธมิตรในต่างประเทศ เพื่อให้การลงทุนเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องลงทุนสร้างโรงงานโอเลฟินส์เอง ซึ่งต้องใช้เวลาหลายปี หลังจากนั้นก็จะต่อยอดไปที่ผลิตภัณฑ์ปลายน้ำโดยร่วมทุนกับคนอื่นในโครงการต่างๆ
ธุรกิจผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของกลุ่มไทยออยล์ โดยมุ่งเน้นการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการและเป็นที่พึงพอใจของลูกค้า

2.การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานและสร้างแพลตฟอร์มสำหรับการเติบโต (Supply Chain Management as a Growth Platform) เพื่อสร้าง Platform ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การบริการลูกค้า การส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าในภูมิภาค ผ่านการบริหารจัดการระบบกระจายสินค้าและโลจิสติกส์ของบริษัทในกลุ่มที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ รองรับการลงทุนในปัจจุบันและโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

3.การกระจายความเติบโตเพื่อลดความผันผวนของกำไร (Earnings Diversification) ไปยังธุรกิจที่มีรายได้ที่มั่นคง รวามถึงธุรกิจใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือธุรกิจใหม่เชิงนวัตกรรมที่สอดคลัองกับแนวโน้มในอนาคต (New S-Curse) เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่ดให้พอร์ตการลงทุนและเพิ่มเสถียรภาพของกำไร รองรับความผันผวนจากธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมี แบ่งออกเป็น 2 ธุรกิจ คือ
ธุรกิจไฟฟ้า จะเติบโตผ่านการลงทุนใน บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ที่บริษัทฯ ถือหุ้นอยู่ 25% ซึ่งจะมีการขยายการลงทุนไปที่ประเทศเวียดนาม และเมียนมา และโครงการโรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างเองเพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าในโรงงานของกลุ่มไทยออยล์ โดยจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้า SPP เพื่อทดแทนโรงเดิมที่หมดอายุไป ปัจจุบันกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการลงทุนทั้งหมดของไทยออยล์ ประมาณ 1,000 เมกะวัตต์
และธุรกิจใหม่ เพื่อหาโอกาสในธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และธุรกิจใหม่เชิงนวัตกรรมที่สอดคล้องกับแนวโน้มในอนาคต ทั้งในส่วนของเทคโนโลยีด้านการผลิต (Manufacturing Technology) เทคโนโลยีด้านความยั่งยืน (Better Life Technology) และเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้พลังงานในอนาคต (Mobility & Battery) โดยการลงทุนผ่านกองทุนร่วม (Venture Capital Fund) และการลงทุนโดยตรงในธุรกิจสตาร์ทอัพ รวมถึงการผลักดันนวัตกรรมที่มีการสร้างสรรคในกลุ่มไทยออยล์มาใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

นอกจากนี้ยังมีการลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ผ่านบริษัทร่วมทุน ในบริษัท ทรัพย์ทิพย์ จำกัด และบริษัท อุบลไบโอเทนอล จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจผลิตเอทานอล ซึ่งมีความสนใจที่จะร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน และอาหารออแกนิกต่างๆ ด้วย

โดยมีเป้าหมายว่าในอนาคตสัดส่วนกำไรจะมาจากธุรกิจโรงกลั่น 40% ธุรกิจปิโตรเคมี 40% ธุรกิจไฟฟ้า 15% และธุรกิจใหม่ 5%
EV ยังไม่มาทดแทนน้ำมันทั้งหมด

ส่วนการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศ จะกระทบต่อธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันของไทยออยล์อย่างไร มองว่า EV เป็นเทรนด์ แต่จะเข้ามามีส่วนแบ่งในตลาดของรถค่อนข้างช้า และจะมีสัดส่วนทดแทนน้ำมันแค่ 2-3% และต้องใช้เวลา 20-30 ปีในการเพิ่มการใช้ เพิ่มหากมีการเพิ่มสัดส่วนการใช้ที่รวดเร็วมากเกินไป จะเกิดการดิสรัปธุรกิจยานยนต์ในประเทศ ทำให้ความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจลดลง ซึ่งมองว่ารถยนต์ไฮบริดจะเป็นรถที่ดีที่สุดในการทำตลาด เพราะสามารถที่จะเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงได้ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาในกรณีที่แบตเตอรี่หมด

ภาพรวมโรงกลั่นไตรมาส 1 ยังไม่ค่อยดี
สำหรับภาพรวมของธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันในไตรมาส 1 ปี 2564 ยังไม่ค่อยดี เนื่องจากราคาน้ำมันสูงเร็วเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากเดิมคาดว่าราคาน้ำมันจะเฉลี่ย 45-45 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ปัจจุบันขึ้นมาอยู่ที่ 60 ดอลลาร์/บาร์เรล ทำให้ต้นทุนการผลิตจะสูง ทำให้กำไรไม่ค่อยดี แต่จะมีกำไรจากการเก็บสต็อกน้ำมัน แต่คาดว่าผลประกอบการจะดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสโควิด-19 มากขึ้น